Message From the Chairman

สาส์นจากประธานกรรมการ

สารจากประธานกรรมการ

 เรียน  ท่านผู้ถือหุ้น

นับตั้งแต่ปี 2563-2565 ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการปรับตัวในการทำธุรกิจ หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลายตัวลง ขณะที่พฤติกรรมการบริโภคของประชาชนในประเทศและต่างประเทศเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง ขณะที่ภาวะความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลก และกติกาทางการค้าใหม่ ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด กระบวนการทำงาน แผนธุรกิจแทบทั้งหมด ใครไม่ปรับตัวย่อมถูกวงล้อมของห่วงโซ่ธุรกิจสลัดทิ้งไปจนหลุดวงจร

ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2565 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 1.5 ในปี 2564 ตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของอุปสงค์ภายในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน

โดยด้านการใช้จ่ายการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชน ในภาพรวมขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 และร้อยละ 5.1 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.6 และร้อยละ 3.0 ในปี 2564 ตามลำดับ

ในด้านของการผลิต สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารกลับมาขยายตัวร้อยละ 39.3 ปรับตัวดีขึ้น จากปีก่อนหน้าที่ลดลงร้อยละ 15.0 เช่นเดียวกับสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 ปรับตัวดีขึ้นจากที่เคยลดลงร้อยละ 2.8 ในปี 2564

ผลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ค่อยกระเตื้องดีขึ้นในปี 2565 ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทยขยับขึ้นมาอยู่ที่ 17.4 ล้านล้านบาท หรือราว 4.95 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 16.2 ล้านล้านบาท หรือราว 5.05 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2564 ถือว่าเริ่มดีขึ้นอย่างมาก

เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวของคนไทยในปี 2565 ขยับขึ้นมาเฉลี่ยอยู่ที่ 248,635.3 บาท/คน/ปี หรือราว 7,089.7 ดอลลาร์สหรัฐ/คน/ปี เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่เฉลี่ยแค่ 231,986.1 บาท/คน/ปี หรือราว 7,254.1 ดอลลาร์สหรัฐ/คน/ปี ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าเศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหลังจากจมปลักกับกับดักโรคร้ายโควิดและวิกฤตเศรษฐกิจของโลก

ขณะที่ปี 2566 จะเป็นปีแห่งความท้าทายต่อการทำธุรกิจ จากภาระรายได้หดตัวหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น และการเปลี่ยนแปลงในเชิงยุทธศาสตร์ของโลก ที่กำลังเดินหน้าสู่ความเป็น Tech Company และโรดแมปไปสู่เป้าหมาย BCG and Go-Green เต็มรูปแบบ เพื่อช่วยต่อยอดจุดแข็งของประเทศให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยอาศัยกลไกวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง และเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม “ทำมากแต่ได้น้อย” ไปสู่ “ทำน้อยแต่ได้มาก” ครอบคลุม 6 ด้าน

(1) เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เน้นการนำความรู้ระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพ และต้นทุนด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

(2) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เน้นการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบต่างๆ ตลอดวัฏจักรชีวิต และการนำวัสดุเหลือทิ้งเดิมมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงทางอุตสาหกรรม ซึ่งช่วยลดขยะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

(3) เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่เน้นส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเป้าหมายสูงสุด

(4) เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Intelligent Economy) เป็นการนำความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมาอำนวยความสะดวก ช่วยวางแผน และจัดการระบบ ให้ดีขึ้น

(5) เศรษฐกิจร่วมใช้ประโยชน์ (Sharing Economy) เป็นระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ที่อิงกับการให้บริการแบบทางเลือกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้รถยนต์โดยสารและการหาที่พักผ่านแอปพลิเคชัน ที่แแต่ละคนสามารถเลือกใช้ประโยชน์ได้ตามความต้องการ ได้อย่างสะดวกและยืดหยุ่นกว่าเดิม

(6) เศรษฐกิจผู้สูงวัย (Silver Economy) ระบบที่นำความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่รองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุพึ่งพาตนเองได้ ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพและความสุข

ระบบเศรษฐกิจของโลกกำลังปรับตัวไปในวงล้อเหล่านี้ ขึ้นกับว่า ใครจะปรับตัวช้าหรือปรับตัวได้เร็วกว่ากัน

สำหรับบริษัท NEWS ในปี 2565 ยุทธศาสตร์การทำธุรกิจขององค์กรได้ปรับตัวเข้าสู่ Road Map ของการทำธุรกิจในการเป็น Tech Company and FinTech เต็มรูปแบบ ผ่านการจัดตั้งบริษัท ลิเบอเรเตอร์ จำกัด ที่เป็นผู้พัฒนาแอปพลิเคชันด้านการลงทุน ระบบซื้อขายหุ้น (trade) เป็น  FinTech  เต็มรูปแบบ

บล.ลิเบอเรเตอร์คือเรือธงหลักของธุรกิจของNEWS ที่จะนำพาธุรกิจหลักทรัพย์ที่เป็นแพล็ตฟอร์มไปสู้ผู้เล่นเป็นคนรุ่นใหม่ให้เข้าสู่ตลาดไม่จมอยู่กับจำนวนผู้เล่นเดิมๆ

ผมเชื่อว่าถ้าองคาพยพของธุรกิจ   นักธุรกิจ และนักลงทุน ในตลาดทุน มองเห็นศักยภาพในสิ่งที่ “ลิเบอเรเตอร์”กำลังสร้างอิสรภาพให้กับนักลงทุนผ่านการซื้อขายบนแพลตฟอร์มด้วยตัวเอง ด้วยข้อมูลที่ได้เท่าเทียมกัน ซื้อขายรวดเร็วเท่ากับกับคนอื่น จะช่วยยกระดับพัฒนาตลาดทุนให้เข้มแข็งมากขึ้น ถ้านักลงทุนเข้ามาสมัครสมาชิกกันจำนวนมากขึ้น จะช่วยสร้างชุมชนนักลงทุนในจำนวนมากก็จะยิ่งโอกาสในการธุรกิจมากขึ้น

แพลทฟอร์มลิเบอเรเตอร์นี้คือตัวจะสร้างการเปลี่ยนแปลง สร้างคอมมูนิตี้ให้เกิดขึ้น ข้อมูลต่างๆเป็นศูนย์กลางความรู้ คนรุ่นใหม่ที่ต้องการอิสรภาพในการลงทุนและตัดสินใจด้วยตัวเอง สามารถใช้ข้อมูลในแพลทฟอร์มนี้มาร่วมกันสร้างตลาดทุนด้วยมือของทุกคน  ลิเบอร์เรเตอร์จึงเป็นคำตอบของนักลงทุนรุนใหม่ในอนาคต นี่คือการเปลี่ยนแปลงของ NEWS

ในรอบปี 2565 NEWS ไม่ได้หยุดแนวทางการเปลี่ยนแปลงองค์กรเพื่อก้าวสู่อนาคตแต่อย่างใด โดยในห้วงกลางปี บริษัท NEWS ได้ตกลงความร่วมมือกับบริษัท อควา คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “AQUA” เพื่อร่วมลงทุนกันในบริษัท เพียร์ ฟอร์ ออล  จำกัด (“PFA”) เพื่อประกอบธุรกิจ Peer-to-Peer Lending หรือ P2P ในสัดส่วนร้อยละ 60 สำหรับบริษัท AQUA และ ร้อยละ 40 สำหรับบริษัท NEWS ในราคารวมทั้งสิ้น  500 ล้านบาท ปัจจุบัน แพล็ตฟอร์ม STOCKLEND กำลังนับ1-2-3 ในการเป็นช่องทางในการปล่อยกู้ที่หลักประกันให้กับภาคธุรกิจที่ต้องการกระแสเงินสดไปหมุนเวียนทางธุรกิจนระยะสั้น

และเพื่อตอบแทนผู้ถือหุ้นรวมถึงเตรียมเงินไว้รอรับการปรับเปลี่ยนธุรกิจขององค์กร คณะกรรมการ บริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ NEWS และผู้ถือหุ้นได้มีมติอนุมัติออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ครั้งที่ 7 หรือ NEWS-W7 ซึ่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ประกาศเพิ่มหลักทรัพย์ NEWS-W7 ให้เริ่มซื้อขายวันที่ 14 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป NEWS-W7 จะถูกจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ที่มีชื่อปรากฏในวันกําหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิ (Record Date) เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 ในอัตราส่วนหุ้นสามัญเดิม 2 หุ้นต่อใบสำคัญแสดงสิทธิ 1 หน่วย ในราคาศูนย์บาทหรือฟรี แก่ผู้ถือหุ้น จำนวนหน่วยใบสำคัญแสดงสิทธิที่เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน 52,818,969,853 หน่วย อัตราการใช้สิทธิ (ใบสำคัญแสดงสิทธิ : หุ้นสามัญใหม่) 1 : 1  กำหนด ราคาการใช้สิทธิที่ 0.05 บาทต่อหุ้น อายุใบสำคัญแสดงสิทธิ 2 ปีนับแต่วันที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิคือ 6 พ.ค. 2565 ให้วันใช้สิทธิครั้งแรก 30 ธ.ค. 2565 วันใช้สิทธิครั้งสุดท้าย 03 พ.ค. 2567

ขณะที่กิจการดั้งเดิมนั้น ในช่วงปลายปี บริษัท นิวส์เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ NEWS ได้ตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมด 100% ในบริษัท ฐานเศรษฐกิจ มัลติมีเดีย จำกัด หรือ TMM ให้แก่บริษัท เนชั่น กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด(มหาชน) หรือ NATION ในราคาซื้อขายทั้งสิ้นไม่เกิน 240 ล้านบาท หรือประมาณ 11.96 บาทต่อหุ้น โดยการเข้าทำรายการได้แล้วเสร็จในปลายปี 2565

ทั้งหมดนั้นคือการเปลี่ยนแปลงในเชิงการทำธุรกิจขอบริษัท ภายใต้การทำงานของคณะกรรมการ และคณะผู้บริหารในรอบปี และคาดหวังว่า ดอกผลของการเปลี่ยนแปลง จะเบ่งบานให้ผู้ถือหุ้น นักลงทุน ได้มองเห็นถึงภาพของความสดใส ในเวลาอันใกล้

แม้ว่าในปี 2565 งบการเงินของ บริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ NEWS ในรอบ 12 เดือน สิ้นสุดงวดวันที่ 31 ธันวาคม 2565  จะมีกำไรสุทธิ  53,116,000 บาท  เทียบกับปี 2564 ที่มีกำไร 107,204,000 บาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น 0.00053  บาท ขณะที่ปี 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.00142 บาท

โดยทั้งปี 2565 มีผลกำไรเบ็ดเสร็จสำหรับปีทั้งสิ้น 46.33 ล้านบาท กำไรสุทธิสำหรับปีลดลงจำนวน 54.09 ล้านบาท คิดเป็น 50% กำไรเบ็ดเสร็จรวมสำหรับปีลดลง 67.43 ล้านบาท คิดเป็น 59%

สาเหตุสำคัญเกิดจากรายได้อื่นลดลง เนื่องจากปี 2564 บริษัทมีกำไรจากการขายเงินลงทุนในบริษัทย่อยจำนวน 194.68 ล้านบาท แต่ในปี 2565 บริษัทมีกำไรจากการขายเงินลงทุนในบริษัทย่อยเพียง 109.65 ล้านบาท และกำไรขาดทุนจากการขาดบริษัทร่วม 54.48 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัท มีค่าใชจ่ายด้านต่างๆที่เพิ่มขึ้น เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 57.91 ล้านบาท คิดเป็น 98% ส่วนใหญ่เพิ่มจากส่วนงานธุรกิจหลักทรัพย์ และการปรับขึ้นของค่าจ่ายบางประการ

บริษัท ยังมีการรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมจำนวน 14.79 ล้านบาท เป็นการรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนมาจากบริษัท เว็ลธ์ เวนเจอร์ จำกัด จำนวน 3.30 ล้านบาท และบริษัท เพียร์ ฟอร์ ออล จำกัด จำนวน 11.50 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 จะถือเป็นปีของการเปลี่ยนแปลงในการทำธุรกิจของบริษัท NEWS ให้เป็นรูปธรรม

แม้ว่าในระยะแรกของธุรกิจ FinTech ที่บริษัทได้ก้าวเข้าไปดำเนินกิจการนั้นจะใช้ต้นทุนทู่ขึ้นและต้อนช้เวลาในการสร้างการรับรู้และยอมรับเพื่อสร้างรายได้และกำไรคืนกลับมาสู่ผู้ถือหุ้น แต่คณะกรรมการเชื่อมั่นว่า เป็นธุรกิจมีโอกาสเติบโตและมีความมั่นคงในระยะยาว และใครก้าวเข้าสู่ตลาดเป็นรายแรก คนนั้นสามารถครอบครองตลาดได้

ขอขอบคุณผู้ถือหุ้นทุกท่านที่เชื่อมั่น และเป็นพลังในการทำงานตลอดมา

บากบั่น บุญเลิศ

ประธานกรรมการ